ขึ้นชื่อว่าใบหน้า ไม่ว่าใครก็ล้วนอยากให้เนียนใสไร้ตำหนิ แต่ความเป็นจริงมักไม่เป็นอย่างนั้น เพราะด้วยหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายในหรือปัจจัยภายนอก ล้วนโน้มนำให้เกิดปัญหากับผิวหน้าได้ทั้งสิ้น สำหรับสาว ๆ แล้วเรื่องริ้วรอยแห่งวัยอาจเป็นปัญหาใหญ่ที่ให้ความใส่ใจ จนลืมไปว่าฝ้าและกระ ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ใหญ่และแก้ยากไม่แพ้กัน


ทั้งนี้เมื่อพูดถึงฝ้าและกระ หลายคนอาจยังสับสนอยู่ว่าปัญหาผิวทั้ง 2 ชนิดนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร แบบไหนเรียกว่าฝ้า แล้วแบบไหนเรียกว่ากระ?


เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย เราอาจใช้การสังเกตถึงปัญหาของผิวที่เกิดขึ้น โดย “กระ” จะมีลักษณะเป็นจุดเล็ก ๆ กลม ๆ มีขอบชัดเจน กระจายทั่วใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณแก้มและหน้าผาก ในขณะที่ “ฝ้า” จะมีลักษณะเป็นปื้นสีน้ำตาลอ่อนไปจนถึงเข้ม เป็นกระจุกรวมกัน พบได้บ่อยในบริเวณโหนกแก้ม เหนือริมฝีปาก คาง และหน้าผาก


แม้ปัญหาผิวทั้งสองจะมีลักษณะที่แตกต่างกัน แต่หนึ่งในจุดร่วมที่เหมือนกันก็คือสาเหตุของปัญหา โดยทั้งฝ้าและกระนั้นมีที่มาจากการได้รับรังสี UVA และ UVB ที่เข้ามาทำร้ายผิวโดยตรงเป็นเวลานาน ๆ จนทำให้เซลล์เมนาโลไซต์ (Melanocytes) ผลิตเมลานินออกมามากเกินความจำเป็น จนทำให้เกิดจุดกระและรอยฝ้าขึ้นบนใบหน้า นอกจากนี้ยังอาจเกิดได้จากความผิดปกติของฮอร์โมนภายในร่างกาย รวมถึงการแพ้เครื่องสำอางได้อีกด้วยเช่นกัน


เราจะป้องกันการเกิดฝ้า – กระ ได้อย่างไร?

อย่างที่ได้กล่าวไปว่ารังสี UVA และ UVB คือตัวการสำคัญของการเกิดฝ้า – กระ การหลีกเลี่ยงการเผชิญกับรังสี UVA และ UVB จึงเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการทาครีมกันแดด สวมหมวก ใช้ผ้าคลุมหรือร่ม เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ผิวต้องพบกับแสงแดดโดยตรง โดยเฉพาะในช่วงเวลา 10:00 – 16:00 น. ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่แดดแรงมากที่สุด


นอกจากนี้ ยังอาจหลีกเลี่ยงการใช้ยาหรือฮอร์โมนที่เป็นต้นเหตุให้เกิดฝ้า เช่นยาคุมกำเนิด อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนยาคุมกำเนิด (ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนการเปลี่ยนยา) รวมถึงหลีกเลี่ยงเครื่องสำอางที่มีผลทำให้เกิดฝ้าด้วยเช่นกัน


หรืออาจเลือกรับประทานจุลินทรีย์โปรไบโอติกเป็นประจำ ซึ่งในปัจจุบันได้มีงานวิจัยค้นพบว่าสามารถลดความรุนแรงของฝ้าได้ทั้งขนาดและความเข้มถึง 4 กลไก* ประกอบด้วย การยับยั้งกระบวนการสร้างเม็ดสีเมลานิน (Tyrosinase Inhibition), การต้านกระบวนการอักเสบ (Anti-inflammatory Effect), ปกป้องผิวจากผลกระทบจากรังสียูวีต่อผิวหนัง (ลด UV Effect ต่อผิวหนัง) และการต้านอนุมูลอิสระ (Anti-oxidative Effect) ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจและได้ผลดีเช่นเดียวกัน

ที่มา https://www.interpharma.co.th/articles/%E0%B8%9D%E0%B9%89%E0%B8%B2-%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0-%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%99-%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88?locale=th

Message us